ทุกส่วนในบล็อกนี้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ อุทิศแล้วเพื่อปวงชน. Powered by Blogger.
RSS

ก้าวข้ามนิกายด้วย "พระกระโดดกำแพง" จุดเริ่มแห่งการสืบต่อศาสนา

สวัสดีครับ ยังมีเรื่องหนึ่งที่ผมลืมให้รายละเอียดไป คือ การต่อสายธรรมในกลุ่มพระ ซึ่งก็จะ มีได้ และเป็นได้เหมือนกัน แต่ว่าทำอย่างไรละ? เมื่อพระศาสนาดั้งเดิมแท้ไร้นิกาย ถูกขีดคั่นแบ่งแยกด้วย "กำแพงแก้ว" ของแต่ละลัทธินิกาย ห้อมล้อมเอาไว้ พระไม่อาจออกจาก กรอบกำแพงที่ขวางกั้นของลัทธินิกายนี้ไปได้ ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาดั้งเดิมแท้ เอาละ วันนี้ เราจะมาคุยเรื่องนี้กันแบบสบายๆ นะครับ ไม่ต้องคิดมาก


"กรอบกำแพง" แห่งลัทธินิกายที่ขวางกั้นและขังกรอบภิกษุไว้?


อย่างแรกที่ท่านควรทราบก่อนคือ พระพุทธศาสนาดั้งเดิมแท้นั้น "ไม่มีลัทธิ-นิกาย" มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวไม่มีแนวคิดแตกแยกแตกต่างไป ไม่มีการริเริ่มสร้างทำสิ่งใหม่ๆ และไม่มีการลดทอนสิ่งเก่าใดลงไป ทุกอย่างเหมือนเดิม เหมือนครั้งพระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ทว่า ท่านอย่าเพิ่งเข้าใจว่าผมต้องการจะโจมตีลัทธิ-นิกายต่างๆ นะครับ สิ่งเหล่านั้นไม่มีผิดหรือถูกอะไร มันเกิดด้วยเหตุแห่งบุญกรรม ความไม่เที่ยง ก็เท่านั้นเอง ผมเพียงแค่จะพาท่านก้าวข้ามให้พ้น "กรอบกำแพง" แห่งลัทธิ-นิกายที่ขวางกั้นท่านอยู่ ให้ไปถึง "พระพุทธศาสนาดั้งเดิมแท้" ให้ได้ ไม่มีแนวคิดที่จะทำลายล้างลัทธิ-นิกายใดๆ เลย และทุกท่านยังสามารถที่จะร่วมกิจกรรมต่างๆ ของแต่ละลัทธินิกายได้ "โดยตื่นแจ้งแล้วจึงไม่ยึดติดในลัทธิ-นิกายนั้นๆ" เอาละ ต่อไป ที่ท่านควรทราบคือแต่ละลัทธินิกายจะมีความเชื่อ และแนวทางในการปฏิบัติบางอย่างที่แตกต่างกัน และไม่อาจที่จะเปลี่ยนไปแนวทางอื่นได้ เพื่อให้คงเป็นลัทธิ-นิกายนั้นๆ ตามเดิมและเหตุนี้เองจึงกลายเป็น "กรอบกำแพงที่ขวางกั้นพระภิกษุในแต่ละลัทธินิกาย ทำให้ไม่อาจจะมองเห็นได้ถ้วนทั่ว และมองเห็นจำกัดอยู่แค่ในแนวคิดหรือมุมมองในนิกายตน



"ผู้สร้างแห่งลัทธินิกาย" คือ ผู้รับกรรม ผู้เข้าร่วมภายหลังไม่ต้องรับ?


สิ่งต่อไปที่ท่านควรทราบก็คือ เฉพาะผู้ริเริ่มสร้างลัทธิ-นิกายเท่านั้นจะต้องรับ "ผลบุญและกรรม" ที่เกิดจากการสร้างลัทธินิกายนั้นๆ อย่างแรกคือ "ผลกรรมจากสังฆเภท" ทำสงฆ์แตกแยกออกมาจากศาสนาดั้งเดิม ส่งผลให้ "มีกรรมขวางนิพพาน" ไม่อาจนิพพานได้แม้ว่าจะมีธรรมถึงอรหันตผลแล้วก็ตาม ท่านเหล่านี้จึงไปสู่ "สุขาวดี" และมีการร่วมปณิธานกันว่า "ขอสละนิพพานเพื่อฉุดช่วยปวงสัตว์ให้ได้นิพพานไปก่อนตน" ด้วยเหตุกรรมดังกล่าว ทว่า ผลบุญจากการสร้างลัทธิ ไว้ให้ปวงสัตว์ก็มากด้วยเหมือนกัน ท่านเหล่านี้จึงไม่ตกนรก (เพราะธรรมถึงขั้นอรหันตผลแล้วด้วย จึงปิดอบายภูมิได้นั่นเอง) แต่ได้เสวยผลบุญบนสุขาวดีสวรรค์แทน เอาละ ต่อไปคือ "ผู้ไม่ได้สร้างลัทธิ-นิกาย" แต่มาเข้าร่วมภายหลัง มีสองประเภท คือ 1. แบบร่วม บุญบารมี ภายหลังแบบนี้ ก็ได้เสวยผลบุญบารมีร่วมกับเขาด้วย ยังไม่นิพพานเร็วแต่จะได้บุญและกรรมน้อยกว่ากลุ่มแรกที่สร้างฯ และกลุ่มนี้จะนิพพานก่อนคนที่สร้างลัทธินิกายนั้น เช่น คนกลุ่มที่ร่วมกันสร้างวัดให้แก่ลัทธินิกายต่างๆ 2. แบบไม่ได้ร่วมบุญบารมีกับเขาแต่ถูก "วิบากกรรม" นำพามาให้ได้มีได้อยู่ ได้เป็น ฯลฯ ในลัทธินิกายนั้นๆ แบบนี้ ไม่ต้องรับบุญกรรม ร่วมด้วยแต่จะเสวยผลบุญกรรมเก่าที่สนองผลในชาตินั้นจนหมดไปเองและจะได้นิพพานเร็วกว่าสองกลุ่มแรกได้ ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริง และบรรลุอรหันต์จริงดังนั้น ท่านไม่ต้องวิตกกังวลว่าถูกให้บวชในลัทธินิกายนั้นๆ แล้วจะต้องมีบุญกรรมยืดยาวไปจนเลย 5,000 ปีก็นิพพานไม่ได้ อีกต่อไป เพราะนั่นก็แค่ "วิบากกรรมเก่าแต่หนหลัง" ที่ท่านต้องรับ เท่านั้น ถ้าท่านไม่ได้ทำต่อไม่ต้องกลัวว่าชาติภพจะยืดยาวออกไป ท่านได้อาศัยนิกายชั่วคราวเท่านั้น



อยู่ในลัทธินิกายอย่างไร? ไม่ให้ถูกกังขังในนั้น ดุจหยดน้ำบนใบบัว


สิ่งต่อไปที่ท่านควรทราบคือ หากท่านมีวิบากกรรมต้องไปเสวยอยู่ในลัทธินิกายใดก็ตาม ท่านจะอยู่อย่างไร? อย่างแรก เราไม่เคยต่อต้านหรือต้องการทำลายลัทธินิกายใดๆ เราปล่อยไว้อย่างนั้น 2. เราไม่ไปสร้างบุญกรรมร่วมต่อไปอีก ในลัทธินิกายนั้นๆ เราสักแต่ว่าอยู่เฉยๆ ก็เท่านั้น อยู่ในนั้นเฉยๆ ไม่มีเจตนาจะทำอะไรอีก แต่ถ้ามีกรรมถูกเขาสั่งให้ทำ ก็ทำไป ไม่ต้องต่อต้าน ทำแบบไม่มีเจตนา คือ "ทำเพราะวิบากกรรมถูกเขาสั่งใช้ ถูกเขานิมนต์ เป็นต้น" แต่ไม่ใช่ ไปทำเองโดยไม่มีใครสั่ง แล้วบอกว่าทำด้วยจิตอรหันต์ไม่ได้ยึด, ไม่มีเจตนา อันนี้ ไม่ใช่นะ ถ้าไม่ถูกวิบากกรรม ถูกใครสั่งใช้หรือนิมนต์ก่อนแล้วไปทำเอง นั้น "มีเจตนาและมีกรรมทั้งหมด" ชัดเจน เป็นพระ ต้องรอเขานิมนต์ก่อนเขาไม่นิมนต์ ก็ไม่ต้องเสนอหน้าไปทำ ถ้าเสนอหน้าไปทำโดยเขาไม่มีนิมนต์ก็เรียกว่า "มีเจตนาทำชัดเจน" และมีผลกรรมให้ต้องรับแน่นอนต่อไปคือ การอยู่ในนิกายนั้นๆ โดยไม่ยึดติดหรือหลงใหลในนิกายของตนมากเกินไป สักแต่ว่าอยู่ๆ ไปเพราะมีวิบากกรรมให้ต้องอยู่ ก็เท่านั้นมันไม่มีทางเลือก ชีวิตเป็นอย่างนี้ เลือกไม่ได้ กรรมมันนำพามา ก็อยู่ก็ทำไปอย่างนั้นเอง แต่ไม่ใช่ด้วยจิตใจที่เศร้าหมองนะ ด้วยปัญญาที่แจ้งแล้วจึงผ่องใสและยอมรับสิ่งนี้ด้วยจิตที่พ้นทุกข์ ไม่ใช่ว่าอยู่แบบ ซังกะตายไปวันๆ อย่างนั้น ยังไม่ใช่ผู้มีปัญญาแจ้งนะ เอาละ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า "หยดน้ำบนใบบัว" ได้จริงๆ แต่ถ้ายังทำนั่น ทำนี่ สร้างบุญไว้มากมาย "โดยไม่มีใครนิมนต์" ก่อน ก็ไม่ใช่พระเต็มตัวแล้ว กลายพันธุ์แล้ว อันนั้นจะเรียกตัวเองว่า "หยดน้ำบนใบบัว" ไม่ได้ นั่นมันของปลอม



ลัทธินิกายแบบไหนเป็น "สังฆเภท" และแบบไหนที่ไม่เป็นสังฆเภท?

คำถามนี้มันง่ายมากเลย ลัทธินิกายใดก็ตามที่แตกแยกออกมาจาก "หมู่สงฆ์ในพระพุทธศาสนาดั้งเดิมแท้" นั้น คือ "สังฆเภททั้งหมด" เช่น นิกายเซนที่เกิดจากพระมหากัสสปะ เป็นต้น นั่นก็คือ จุดเริ่มต้นของ "สังฆเภท" เป็นแบบอย่างที่ผิดพลาดให้ทำตามต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ (ก็ยังมีคนอยากทำสังคายนาตามแบบพระมหากัสสปะ) ลัทธินิกายที่ไม่ใช่สังฆเภทคือ ลัทธินิกายที่เกิดขึ้น "นอกหมู่สงฆ์" ก็ไม่ใช่สังฆะ อีกต่อไป เป็นเรื่องของ "ฆราวาสเขา" ทำกันเอง เช่น คนที่ไปสร้างลัทธินิกายในหมู่ "ฆราวาส, ผ้าขาว" ฯลฯ พวกนี้ จะจัดเป็นสังฆเภทกับเขาไม่ได้ เพราะไม่ใช่สังฆะตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เป็นได้เพียงพราหมณ์ลัทธินิกายหนึ่ง ก็เท่านั้น ทำแล้วถ้าไม่สอนคนให้ทำชั่ว ก็ไม่ต้องตกนรกและไม่มี "กรรมหนักขวางนิพพาน" ดังนั้น เจ้าลัทธินิกายต่างๆ ในสมัยพุทธกาลนั้น หากยอมเข้าสู่ พระพุทธศาสนา ก็มีโอกาสได้นิพพานได้ทั้งนั้น ดังนั้น สรุปตรงนี้ชัดๆ ว่าถ้าไม่อยากทำสังฆเภทก็ไม่ต้องไปยุ่งกะสังฆะเขา ปล่อยเขาไป เขาจะถูกจะผิดอะไร ก็ช่างเขาพูดคุยกันได้แต่ไม่ใช่การยุยงให้เขาเปลี่ยนสาย เปลี่ยนนิกายอะไร ให้เขาเลือกของเขากันเอง บุญกรรมของใคร ก็ของมัน ก็เท่านั้น ส่วนผู้ที่สร้างลัทธินิกาย ถ้าจำเป็นต้องสร้างจริงๆ ก็ให้สร้างนอก "สังฆะ" คือ ให้สร้างในกลุ่มฆราวาสผ้าขาวไป เท่านี้ ก็ไม่ต้องเกิดสังฆเภทกันแล้วจะอ้างว่า "ลัทธินิกาย" คือ ยานใหญ่ ฉุดช่วยคนได้มาก ก็ทำไปในผ้าขาว ในหมู่ฆราวาสไปก็แล้วกัน ไม่สังฆเภทแต่อย่างใด แต่ก็อย่าทำในผ้าเหลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กับพระที่พ้นแล้วจากลัทธินิกายใดๆ" นี่อย่าไปดึงท่านเข้าลัทธินิกายใดๆ ทั้งนั้น มันจะเป็นสังฆเภทคือ ทำให้ท่านที่อยู่ในพระพุทธศาสนาดั้งเดิมแท้ต้องแตกแยกออกมาเสีย นี่ไม่ดี



เราสามารถทำบุญกับ "ลัทธินิกายที่เกิดจากสังฆเภท" ได้ไหม แค่ไหน?


คำถามนี้เป็นคำถามที่เริ่มละเอียดขึ้น อย่างแรกคือ ถ้าการทำบุญทำทานนั้นไม่ใช่การ "ร่วมสร้างลัทธินิกาย" กับเขาด้วย เช่น ไม่ใช่การสร้างวัดก็ไม่ใช่บุญที่มีสายเชื่อมกับกลุ่มผู้ทำสังฆเภท การทำบุญด้วยการให้ทานเป็นข้าว ตักบาตรตอนเช้าหรือถวายที่วัดอะไร นี่ไม่ส่งผลถึงขั้นได้ร่วมบุญร่วมกรรม ร่วมบารมีกับลัทธินิกายนั้นๆ ยกเว้นบุญที่เขาร่วมสร้างอะไรต่อมิอะไรเพื่อสืบสานต่อความเป็นลัทธินิกายนั้นๆ ให้ยืดยาวออกไป อันนั้นหละ "บุญร่วมกับนิกายสังฆเภท" สรุปง่ายๆ ถ้าอยากทำบุญสร้างบารมีกับหมู่ผู้ที่ไม่มีสังฆเภท ก็ทำกับพวกลัทธินิกายพราหมณ์หรือพวกฆราวาสที่เขาไม่ได้เป็นพระ เช่น พวกลัทธินิกายของฆราวาสต่างๆ เป็นต้น อันนี้ ได้บุญที่บริสุทธิ์ขึ้น "ขึ้นสายบุญบารมีใหม่ ที่ไม่ติดนิกายสังฆเภท" ได้ แต่ไม่ได้ถึงกับห้ามว่าห้ามทำบุญให้พระในลัทธินิกายใดๆ หรอกนะ แต่ถ้าเราไม่มีประสงค์จะร่วมสายสังฆเภท เราก็อย่าไปร่วมสร้างบุญบารมีอะไรกับเขาที่มันจะเป็นการสืบทอดต่อลัทธินิกายนั้นๆ ถ้าจะสร้างศาลาธรรม ก็สร้างให้ "ลัทธินิกายของฆราวาส" ก็ได้ ส่วนทำบุญตักบาตรพระ นี่ทำได้ ก็ทำไปหรือไม่เช่นนั้น ท่านก็ร่วมกันก่อตั้งลัทธินิกายของฆราวาสไปเสียเลย ก็ได้ ท่านไม่ได้สอนให้คนทำชั่ว สอนให้คนต้องตกนรกสักหน่อยอย่างนี้ไม่ต้องกลัวอะไร ทำได้ ดีกว่าไปทำในหมู่สงฆ์ ทำแบบนี้ ปูพื้นฐานให้พระไว้ ก็ได้



"พระกระโดดกำแพง" หลักสูตร "กบนอกกะลา" ที่ช่วยสืบต่อพระศาสนา


ต่อไปคือเรื่อง "พระกระโดดกำแพง" หมายความว่าอะไร? ไม่ใช่ให้ไปทำแบบนั้นจริงๆ หรอกนะ มันเป็น "ปริศนาธรรม" หมายความว่าให้พระท่านไป "ก้าวข้ามให้พ้นกำแพงกั้นของลัทธินิกายต่างๆ ที่กักขังตนอยู่" ก็จะมีโอกาสบรรลุ "อรหันตผล" ได้ มันจะต้องกล้าออกมาศึกษาอะไรที่แตกต่างไปจากลัทธินิกายของตนๆ อยู่นั้น กล้าที่จะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและตรงกันข้ามแบบ "สุดขั้ว" ให้ได้ ไม่ใช่ยอมเชื่อเขาไปหมดนะ แต่ฟังก็เพื่อ "ตีปริศนาธรรมให้ทะลุทะลวง" ไปให้ได้ ก็เท่านั้นเอง เช่น สมมุติว่ามีหลวงพ่อสด ศึกษาสมาธิแล้วก้าวข้ามพ้นนิมิตหลอกไม่ได้ ก็ไปสนทนากับท่านเจ้าคุณโพธิแจ้ง ซึ่งอยู่คนละนิกายกันเลย พอได้รับมุมมองที่ตรงข้ามได้มองต่างมุมแล้วก็มาปฏิบัติเอง "ในนิกายเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนนิกาย" จนสำเร็จวิชชาธรรมกายได้ อันนี้ก็คือ ตัวอย่าง "พระกระโดดกำแพง" มันไม่ต้องถึงขนาดทำกรรมไปเปลี่ยนลัทธินิกายอะไรเลย ด้วยวิธีนี้ จึงจะช่วยให้พระภิกษุหลุดพ้นจาก "กำแพงแห่งลัทธินิกายที่กักขัง" ตนเองอยู่ได้ และสำเร็จอรหันตผลได้ สืบต่อพระพุทธศาสนาต่อไปได้ ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ ก็ยาก! เอาละ ในหมู่ฆราวาสเขาก็ต่อทอดสายธรรมแบบหนึ่ง แต่ในหมู่พระ ก็ต้องมีวิธีอีกแบบหนึ่ง ดังที่กล่าวมานี้ มันไม่อาจจะต่อสายธรรมแบบเดิมๆ ได้อีกจะอาศัยครูบาอาจารย์ของลัทธิ-นิกายของตนอย่างเดียว เป็นไปไม่ได้แล้ว



"พระอรหันต์ในผ้าเหลือง" สำเร็จหลักสูตรกบนอกกะลา นั้นมีอยู่จริง?


ต่อไปคือเรื่อง "พระอรหันต์ที่แท้จริง" ซึงอยู่ในผ้าเหลือง นั้นมีอยู่จริง ทว่า ท่านเป็นผู้ไม่มีชื่อเสียงในขณะนี้ แทบไม่มีใครรู้จัก เพราะท่านไม่ได้สร้างผลงานอะไรให้เป็นที่รู้จัก ท่านอยู่เฉยๆ ในธรรมวินัยไม่ออกไปนอกกรอบ เลยไม่มีผลงานอะไรอวดโชว์ใคร เลยไม่มีชื่อเสียง ไม่ได้ไปสร้างวัด, สร้างโรงพยาบาลอะไรๆ กับเขา เลยไม่มีชือเสียงไปอวดชาวโลกอย่างที่ "โลกๆ" เขาเป็นอยู่ เอาละ แต่ผมต้องแจ้งให้ท่านได้ทราบว่าอย่าตกใจไป เพราะพระอรหันต์ห่มผ้าเหลือง ก็มีแล้ว แต่เพราะท่านมีกรรมต้องอยู่ในลัทธินิกายนั้นๆ ท่านจึงต้องทำตามๆ เขาไป และทำให้มีบุญกรรมสืบชาติต่อภพ แม้อรหันต์แล้วก็จะไม่ได้นิพพานในชาตินี้ ทันทีท่านก็จะจุติไปต่อในชาติภพหน้า และรอนิพพานพร้อมๆ กัน เมื่อสิ้นอายุพุทธกาลห้าพันปีพร้อมๆ กับพระพุทธเจ้าด้วย ด้วยเพราะท่านอยู่ในลัทธินิกายและจำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ไปอย่างนั้น จะไม่แปดเปื้อนเลย ก็ยากเขาทำบุญ เขากวาดวัดกัน ท่านจะไม่ทำ ก็เป็นเรื่อง อยู่กันไม่ได้อีก ก็ต้องยอมทำตามเขาไป ได้บุญเพราะกวาดวัด ไม่จบ ในชาตินี้ ต้องไปเสวยผลบุญต่ออีกชาติหนึ่งข้างหน้าก็หมดจบและนิพพานได้ ทว่า ผู้ใดจะมีบุญได้ไปถึงท่านเหล่านี้ "ก็ยาก" เพราะสายตาของท่านมัวมองแต่พระที่โด่งดังมีชื่อเสียงทั้งนั้น ท่านมองข้ามเลยศีรษะพระธรรมดาๆ เหล่านี้ ไปหมดแล้ว


ขอพลังแสงธรรมแห่งธรรมกายของพระพุทธเจ้า จงส่องทางท่าน สวัสดี



6 ส.ค. 2555


"เสียงจากพระสาวก"
รับสื่อสารโดย


瑠璃王

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

0 comments:

Post a Comment